ทำไมจึงต้องใส่รองเท้าเซฟตี้?
ปกติแล้ว เราจะใส่รองเท้าเพื่อป้องกันเท้าเปื้อน ป้องกันเท้าจากเชื้อโรคสิ่งสกปรกต่าง ๆ หรือโดนของมีคมบาด แต่สำหรับรองเท้าเซฟตี้นั้น นอกจากจุดประสงค์ที่ได้กล่าวมาแล้ว รองเท้าเซฟตี้ยังสามารถป้องกันอุบัติเหตุ ที่อาจจะเกิดจากการทำงานได้อีกด้วย โดยจะสามารถป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ป้องกันของตกใส่เท้า เมื่อคนงานต้องยกของหนัก ๆ หรือ จำเป็นต้องทำงานในที่ที่มีเครื่องจักร หรือยานพาหนะจำนวนมาก ๆ การหล่นของสิ่งของนั้นเป็นปัจจัยแรก ๆ ของอันตรายต่าง ๆ เพราะฉะนั้น การใส่รองเท้าเซฟตี้เพื่อป้องกันเท้า จะสามารถช่วยป้องกันนิ้วเท้าหักและการบาดเจ็บของเท้าได้ โดยมาตรฐานของการกระแทกที่หัวรองเท้านั้นจะอยู่ที่ 200 จูล (สามารถรับแรงกระแทกได้ 20 กิโลกรัม จากความสูง 1 เมตร)
- ป้องกันการเจาะทะลุ สภาพแวดล้อมบางแห่งอาจจะมีวัตถุที่แหลมคม ซึ่งสามารถบาดหรือเจาะ ทำให้เท้าได้รับบาดเจ็บ การใส่รองเท้าเซฟตี้นั้นจะสามารถช่วยได้ เพราะรองเท้าเซฟตี้มีพื้นที่แข็งแรง หรือในบางรุ่นอาจจะมีพื้นเสริมแผ่นเหล็กเพื่อป้องกันตะปูได้อีกด้วย
- ป้องกันการตัดเฉือน งานบางประเภท อาจจะมีการตัดหรือเฉือน ซึ่งงานประเภทนี้จำเป็นต้องใช้รองเท้าที่ผลิตจากวัสดุที่กันบาดโดยเฉพาะ โดยรองเท้าที่สามารถกันการตัดเฉือนได้ จำเป็นได้รับมาตรฐานสากล เช่น OSHA 29 CFR 266(d)(1)(v)
- ป้องกันไฟฟ้า สำหรับผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า จำเป็นที่จะต้องใช้รองเท้าเซฟตี้สามารถกันไฟฟ้าดูดได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะผลิตจากหนังแท้, ยาง หรือวัสดุที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้าและไม่มีรอยเย็บระหว่างพื้นรองเท้ากับตัวรองเท้า
- ป้องกันการลื่นไถล จริง ๆ แล้วการลื่นไถลนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุก ๆ ที่ แต่ว่าคนงานที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรหรือยานพาหนะ อาจจะต้องเจอกับคราบน้ำมันที่มีความลื่น เพราะฉะนั้น จึงควรเลือกรองเท้าเซฟตื้ที่มีพื้นดอกยางลึก เพื่อให้ยึดเกาะพื้นผิวให้ดีขึ้น การที่เราเลือกรองเท้าเซฟตี้ที่มีพื้นดอกยางลึกนั้น ยังช่วยลดการสึกของพื้นรองเท้า รวมถึงทำให้ใช้งานที่ยาวนานขึ้นอีกด้วย
- ลดอาการเมื่อยล้า สำหรับคนงานที่ต้องยืนทำงานทั้งวัน โดยเฉพาะคนงานที่ต้องยืนบนพื้นแข็ง ๆ อย่างเช่น คอนกรีต ความปวดเมื่อยนั้นเป็นปัญหาที่สำคัญมาก ๆ เราจึงต้องเลือกรองเท้าเซฟตี้ที่มีน้ำหนักเบา พื้นนิ่ม เพื่อให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องและลดอาการปวดเมื่อย ส่วนเรื่องไซซ์ของรองเท้าก็มีผลทำให้ปวดเมื่อเท้าได้เช่นกัน โดยการเลือกขนาดของรองเท้า ควรเลือกขนาดรองเท้าที่มีขนาดใหญ่กว่ารองเท้าที่สวมใส่ปกติเล็กน้อย เพื่อไม่ให้หัวเหล็กบีบหรือกดเท้า และที่สำคัญ ควรทดลองสวมใส่ในเวลา 13.00 – 16.00 น. เพราะในช่วงเช้ามีอากาศค่อนข้างเย็น ทำให้เท้าเราหดตัว แต่ในช่วงบ่าย เท้าของเราจะขยายตัวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการเลือกรองเท้า
- ป้องกันการเผาไหม้ การถูกเผาไหม้จากไฟนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในการทำงาน แต่สารเคมีก็สามารถเผาไหม้ได้เช่นกัน โดยรองเท้าเซฟตี้ที่ใช้นั้นควรจะผลิตจากหนังแท้ ไม่ควรเป็นหนัง PVC เพราะว่า หนังแท้มีความทนทานสูงและไม่เกิดการลามของไฟ
- ป้องกันสภาพอากาศ การทำงานในพื้นที่ที่เย็นจัดหรือร้อนจัดโดยเฉพาะคนงานที่ต้องทำงานในห้องแช่แข็งหรือทำงานหน้าเตาหลอม สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ อย่างไรก็ตาม เราควรใช้รองเท้าเซฟตี้ที่มีพื้นรองเท้าที่หนาและทนทานต่อสภาพพื้นผิวหน้างานนั้น ๆ
ผู้ใช้งานควรใช้รองเท้าเซฟตี้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานเพื่อความปลอดภัยในการทำงานที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งรองเท้าเซฟตี้นั้นก็จำเป็นที่ต้องมีใบรับรองมาตรฐานสากลอย่างเช่น มาตรฐาน ยุโรป EN345 โดยรองเท้าเซฟตี้ที่ได้รับมาตรฐานนี้ ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้
- หัวรองเท้า (Safety Toes) ต้องให้การป้องกันแรงกระแทก (Impact) สูง 200 จูลได้
- ผ่านการทดสอบแรงบีบ (Compression Test)
- วัสดุส่วนบน (The Upper Material) ต้องมีคุณภาพและความหนาที่สามารถต้านทานการขัดสี (Abrasion Resistance) ในระดับที่กำหนดไว้
- พื้นรองเท้า ต้องมีความต้านทานความร้อน (Heat Resistance) ความต้านทานการขัดสี (Abrasion Resistance) การดูดซับแรงกระแทก (Shock Absorption) รวมทั้ง ความต้านทานทั้งน้ำมันและสารเคมีชนิดที่ได้กำหนดไว้แล้ว (Resistance to both oil and certain chemicals)
อย่างไรก็ตาม มาตรฐาน EN345 บังคับให้ผู้ผลิตเพิ่มตัวอักษรระบุวัตถุประสงค์หรือสภาพแวดล้อมในการใช้งานรองเท้า โดยจะมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานดังนี้
SB (Safety Basic)
สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน
SBP (SB with pierce resistant midsole)
สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นต้านทานการแทงทะลุ
S1 (SB with anti-static sole and cushioned heel area)
สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต
S1P (S1 with pierce resistant midsole)
สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต รวมถึงพื้นต้านทานการแทงทะลุ
S2 (S1 with water resistant upper)
สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต รวมถึงส่วนบนต้านทานน้ำ
S3 (S2 with pierce resistant midsole)
สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและสันต้านทานไฟฟ้าสถิต ส่วนบนต้านทานน้ำ รวมทั้งพื้นต้านทานการแทงทะลุ
แต่ถ้าหากมีคุณสมบัติพิเศษนอกเหนือจากมาตรฐานที่กล่าวมา จะมีสัญลักษณ์เพิ่มเติมด้านท้ายตามนี้
P – มีพื้นเหล็ก ป้องกันการเจาะทะลุได้ 1,100 นิวตัน
C – รองเท้าป้องกันไฟฟ้าสถิตแบบตัวนำ
A – รองเท้าป้องกันไฟฟ้าสถิต
HI – รองเท้ามีฉนวนป้องกันความร้อน
CI – รองเท้ามีฉนวนป้องกันความเย็น (-20 C)
E – พื้นรองเท้าสามารถช่วยดูดซับแรงกดบนส้นเท้า 20 จูล
WRU – ส่วนบนรองเท้าป้องกันน้ำซึมเข้ารองเท้า
HRO – พื้นรองเท้าทนความร้อน 300 องศาเซลเซียส นาน 1 นาที
CRO – พื้นรองเท้าป้องกันน้ำมัน
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ คนงานที่จำเป็นต้องทำงานตามเขตก่อสร้างหรือในโรงงานที่มีความเสี่ยงกับอันตรายต่าง ๆ สูง จึงควรสวมใส่รองเท้าเซฟตี้เพื่อปกป้องเท้า เพราะเท้าของเราถือเป็นอวัยวะสำคัญที่จำเป็นต้องมีการดูแลและใส่ใจอย่างถูกต้อง