รู้จักและเข้าใจกับอุปกรณ์ป้องกันการหายใจ

รู้จักและเข้าใจกับอุปกรณ์ป้องกันการหายใจ

ในครั้งนี้ เรามาทำความเข้าใจกับอุปกรณ์ป้องกันการหายใจกันครับ โดยอุปกรณ์ป้องกันการหายใจ นั้นเป็นอุปกรณ์ช่วยป้องกันอันตรายจากมลพิษต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางปอด ซึ่งเกิดจากการหายใจเอามลพิษ เช่น อนุภาค แก๊สและไอระเหยที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศหรือเกิดจากปริมาณออกซิเจนในอากาศไม่เพียงพอ

อุปกรณ์ป้องกันทางหายใจสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. หน้ากากกรองอนุภาค

เป็นหน้ากากที่ทำหน้าที่กรองอนุภาคที่ลอยในอากาศ ซึ่งได้แก่ ฝุ่น ฟูม ควัน โดยส่วนประกอบที่สำคัญของหน้ากากกรองอนุภาค มีดังนี้

– ส่วนหน้ากาก มี 2 ขนาด โดยมีขนาดครึ่งหน้าหรือขนาดเต็มหน้า

– ส่วนกรองอากาศ ประกอบด้วยวัสดุกรองอากาศ (Filter) โดยที่นิยมใช้จะมี 3 ลักษณะ คือ

* ชนิดแผ่น ผลิตจากเส้นใยอัด ที่มีความพอเหมาะสำหรับกรองอนุภาค โดยให้มีประสิทธิภาพในการกรองอากาศสูงสุด และแรงต้านทานต่อการหายใจน้อยที่สุด
* ชนิดที่วัสดุกรองอากาศ ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในตลับแบบหลวมๆ เหมาะสำหรับกรองฝุ่น
* ชนิดที่มีประสิทธิภาพสูง โดยนำวัสดุกรองอากาศที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางมาพับขึ้นลง ให้เป็นจีบบรรจุในตลับ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวสำหรับอนุภาคที่จะไปเกาะ และลดแรงต้านการหายใจ

– สายรัดศีรษะ สามารถปรับได้ตามต้องการเพื่อให้กระชับกับผู้สวมใส่อยู่เสมอ

ทั้งนี้ ยังมีหน้ากากกรองอนุภาคชนิดที่ใช้แล้วทิ้งอีกด้วย โดยส่วนประกอบของหน้ากาก จะมี หน้ากากและวัสดุกรอง ซึ่งจะรวมเป็นชิ้นเดียวกัน ส่วนบนของหน้ากากมีแผ่นโลหะอ่อนที่สามารถปรับให้โค้งงอตามแนวสันจมูกได้ เพื่อช่วยให้หน้ากากกระชับและแนบกับใบหน้าของผู้สวมใส่

2.หน้ากากกรองแก๊สไอระเหย ทำหน้าที่กรองแก๊ส และไอระเหยต่าง ๆ

ส่วนประกอบที่สำคัญของหน้ากากกรองแก๊สและไอระเหย คือ

– ส่วนหน้ากาก จะเป็นลักษณะเดียวกับหน้ากากป้องกันอนุภาค สามารถใช้ร่วมกันได้
– ส่วนกรองอากาศ เป็นตลับกรองหรือเป็นกระป๋องบรรจุสารเคมี ซึ่งเป็นตัวดูดซับมลพิษหรือทำปฏิกิริยากับมลพิษ ทำให้อากาศที่ผ่านตลับกรองสะอาด ปราศจากมลพิษ ส่วนตัวกรองอากาศนี้สามารถใช้ได้เฉพาะสำหรับแก๊สหรือไอระเหยในแต่ละประเภทตามที่ระบุไว้เท่านั้น เช่น ตลับกรองอากาศที่ใช้กรองกรดแก๊ส จะสามารถกรองได้เฉพาะกรดแก๊สเท่านั้น และจะไม่สามารถป้องกันมลพิษชนิดอื่นได้ ดังนั้นผู้ใช้ควรเลือกซื้อและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของมลพิษที่จะป้องกัน
โดยที่ American National Standard ได้กำหนดมาตรฐาน ANSI K 13.1-1973 ขึ้นเพื่อตั้งรหัสสีของตลับกรองสำหรับกรองแก๊ส และไอระเหยชนิดต่างๆ โดยกำหนดดังนี้1111111

หน้ากากกรองแก๊สและไอระเหย จะมีอยู่ 3 ประเภท คือ

– หน้ากากกรองแก๊สและไอระเหยชนิดตลับกรองสารเคมี เป็นตลับกรองที่สามารถป้องกันแก๊ส และไอระเหยที่ปนเปื้อนในอากาศ ที่ความเข้มข้นประมาณ 10-1,000 ppm. (ppm = part per million) ไม่เหมาะที่จะใช้ในกรณีที่มีความเข้มข้นสูงในระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตทันที (Immediately dangerous to life or health level – IDHL) ยกเว้นในกรณีที่ใช้หนีออกจากบริเวณอันตรายนั้น เป็นเวลาสั้น ๆ

– หน้ากากกรองแก๊ส (Gas mask) ตลับกรองจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่จะต่างกันตรงส่วนที่บรรจุสารเคมี เพื่อทำให้อากาศที่ปนเปื้อนสะอาดก่อนที่จะถูกหายใจเข้าสู่ทางเดินหายใจเท่านั้น ซึ่งจะแบ่งเป็น

* ชนิดที่กระป๋องอยู่ที่คางบรรจุสารเคมีประมาณ 250-500 ลบ.ซม. ใช้กับหน้ากากเต็มหน้า
* ชนิดที่กระป๋องบรรจุสารเคมีอยู่ด้านหน้า หรือด้านหลังบรรจุสารเคมี 1,000-2,000 ลบ.ซม. ใช้กับหน้ากากเต็มหน้า
* ชนิดหน้ากากหนีภัย

– หน้ากากที่ทำให้อากาศสะอาดชนิดที่มีระบบช่วยเป่าอากาศเข้าไปในหน้ากาก หน้ากากชนิดนี้จะมีส่วนประกอบที่คล้ายกับหน้ากากป้องกันแก๊สและไอระเหย แต่จะมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นคือมีเครื่องเป่าอากาศให้ผ่านตลับหรือกระป๋องสารเคมี ซึ่งจะช่วยลดแรงต้านทานการหายใจของผู้ใช้งาน ทำให้รู้สึกสบายขึ้นขณะปฏิบัติงาน

ข้อปฏิบัติในการใช้งานหน้ากาก

– เลือกขนาดหน้ากากให้พอดีกับใบหน้า โดยไม่ให้มีช่องว่างระหว่างผิวหน้าและหน้ากาก

– เลือกวัสดุกรองอนุภาคหรือตลับกรองมลพิษหรือกระป๋องกรองมลพิษให้เหมาะสมกับชนิดมลพิษที่ต้องการกรอง

– ตรวจสอบรอยรั่วหรือช่องว่างที่ทำให้อากาศสามารถเข้าไปในหน้ากาก โดยใช้วิธีทดสอบ negative pressure และ positive pressure

* วิธีทดสอบ negative pressure โดยใช้ฝ่ามือปิดทางที่อากาศเข้าให้สนิท แล้วหายใจเข้า ตัวหน้ากากจะยุบลงเล็กน้อย และคงค้างไว้ในสภาพนั้นประมาณ 10 วินาที แสดงว่า ไม่มีรอยรั่วที่อากาศจะไหลเข้าไปในหน้ากากได้
* วิธีทดสอบ positive pressure โดยการปิดลิ้นอากาศออก แล้วค่อย ๆ หายใจออก ถ้าเกิดความดันเพิ่มขึ้น ในหน้ากากแสดงว่า หน้ากากไม่มีรอยรั่ว

– ขณะสวมหน้ากาก หากได้กลิ่นแก๊สหรือไอระเหย ควรเปลี่ยนตลับกรองหรือกระป๋องกรองมลพิษทันที

– หน้ากากแบบ powered air purifying ควรตรวจสอบท่อส่งอากาศและข้อต่อต่างๆ ที่อาจทำให้แก๊สหรือไอระเหยรั่วซึมเข้าไปได้

– ประเภทที่ส่งอากาศจากภายนอกเข้าไปในหน้ากาก เป็นอุปกรณ์ป้องกันทางการหายใจชนิดที่ต้องมีอุปกรณ์ส่งอากาศหรือออกซิเจนให้กับผู้สวมใส่โดยเฉพาะ โดยจะสามารแบ่งได้ดังนี้

– ชนิดที่แหล่งส่งอากาศติดที่ตัวผู้สวม (Self-contained breathing apparatus หรือที่เรียกว่า SCBA) ผู้สวมจะต้องนำแหล่งส่งอากาศหรือถังออกซิเจนไปกับตัว ซึ่งสามารถใช้ได้นานประมาณ 4 ชั่วโมง หลักๆแล้วส่วนประกอบของอุปกรณ์นี้ จะประกอบไปด้วย ถังอากาศ สายรัดติดกับผู้สวม เครื่องควบคุมความดัน ละการไหลของอากาศจากถังไปยังหน้ากาก ท่ออากาศ และหน้ากากชนิดเต็มหน้า โดยหลักการทำงานของอุปกรณ์นี้ มี 2 รูปแบบ คือ

* แบบวงจรปิด หลักการคือ ลมหายใจออกจะผ่านเข้าไปในสารดูดซับเพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วกลับเข้าไปในภาชนะบรรจุออกซิเจนเหลวหรือออกซิเจนแข็งหรือสารสร้างออกซิเจน แล้วกลับเข้าสู่หน้ากากอีกครั้ง
* แบบวงจรเปิด หลักการคือ ลมหายใจออกจะถูกปล่อยออกไป ไม่หมุนเวียนกลับมาใช้อีก อากาศที่หายใจเข้าแต่ละครั้ง จะมาจากถังบรรจุออกซิเจน

– ชนิดที่ส่งอากาศไปตามท่อ (Supplied air respirator) ถังเก็บอากาศจะอยู่ห่างออกไปจากตัวผู้สวม อากาศจะถูกส่งมาตามท่อเข้าสู่หน้ากาก

ข้อปฏิบัติในการใช้อุปกรณ์ป้องกันทางการหายใจแบบส่งอากาศจากภายนอกเข้าไปในหน้ากาก

1.ตรวจอุปกรณ์ทุกส่วนให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนใช้งาน
2.ปรับอัตราการไหลของออกซิเจนให้เหมาะสมและหน้าปัดบอกปริมาณออกซิเจนควรอยู่ในสภาพที่ผู้สวมใส่สามารถเห็นได้ชัดเจน
3.ขณะสวมหน้ากากอยู่ หากได้กลิ่นสารเคมีควรรีบออกจากบริเวณนั้นทันที
4.ควรมีท่อสำรองและสารช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่น ท่อนำส่งอากาศชำรุด เป็นต้น
5.ผู้สวมใส่ต้องได้รับการฝึกอบรมวิธีการใช้งานมาเป็นอย่างดี
6.ต้องมีการบำรุงรักษาที่ดี เช่น ตรวจสอบถังอากาศ เครื่องควบคุมความดันและการไหลเวียนของอากาศ ตามคำแนะนำของผู้ผลิต

การทำความสะอาดหน้ากาก
1. ถอดตลับหรือกระป๋องบรรจุสารเคมีออกจากตัวหน้ากาก แล้วนำหน้ากากไปล้างด้วยน้ำอุ่นและสบู่ โดยใช้แปรงนิ่มๆ ขัดเบาๆ
2. นำไปฆ่าเชื้อโรคโดยจุ่มลงในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 2 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง
3. ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าที่ ตรวจสอบให้เรียบร้อยและควรเก็บในที่สะอาดไม่ปนเปื้อนฝุ่น สารเคมีหรือถูกแสงแดด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *