เสียง…ภัยอันตรายที่ถูกมองข้าม
การได้ยิน นั้นเป็นประสาทรับรู้อีกทางหนึ่งมีความสำคัญกับการดำรงชีวิตเราเป็นอย่างมาก เพราะว่าการได้ยินจะช่วยให้เรามีความเข้าใจและเข้าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่สำคัญในการใช้ชีวิต
แต่ทว่า หูเราสามารถฟังเสียงได้ในขอบเขตจำกัด ซึ่งถ้าเสียงดังเกินไปก็จะสามารถทำให้เกิดอันตรายจนถึงขั้นหูตึงหรือแม้กระทั่งหูหนวกก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม การที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังบ่อยๆนั้น ยังส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆของร่างกายด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเครียด หรือแม้กระทั่ง เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากเสียงดังทำให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยบ่อยขึ้น
แล้วเสียงดังแค่ไหนจะทำให้เกิดอันตราย?
สำหรับมาตรฐานของเมืองไทย กำหนดให้ความดังที่ได้รับติดต่อกันไม่เกิน 90 เดซิเบล หากทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง และไม่เกิน 80 เดซิเบล หากทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามผู้ที่ทำงานกับเสียงดังตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ จะมีความเสี่ยงต่ออันตรายต่างๆน้อยลง หากสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง
แล้วจะป้องกันอันตรายจากเสียงได้อย่างไรบ้าง?
การป้องกันอันตรายที่เกิดจากเสียง จะแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
– ป้องกันจากแหล่งกำเนิดเสียง โดยวิธีการบำรุงรักษาเครื่องจักรเพื่อให้เกิดเสียงได้น้อยที่สุด
– ป้องกันการเดินทางของเสียง โดยวิธีใช้โครงสร้างหรือวัสดุที่ลดเสียงได้
– ป้องกันที่ผู้รับเสียง โดยการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง
ถึงแม้วิธีทั้งหมดนี้ จะสามารถช่วยลดอันตรายได้ เราก็ควรสร้างทัศนคติและระเบียบวินัยที่จะป้องกันอันตรายที่เกิดจากเสียงอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากมลภาวะที่เราจำเป็นต้องทำงานอยู่กับมัน